คณะองคมนตรี ร่วมกับ บก.ปภ.ช. ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

คณะองคมนตรี ร่วมกับ บก.ปภ.ช. ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เน้นย้ำทุกหน่วยทำงานเชิงพื้นที่ บูรณาการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง พร้อมดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอวันนี้ (28 ม.ค. 63) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายจรัลธาดา กรรณสูต พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ นายอำพน กิตติอำพน และ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท รวมถึงพลอากาศตรี โชคดี สมจิตติ์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต เลขานุการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมฯและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้บูรณาการทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเน้นการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนรองรับ ทั้งการเติมน้ำดิบจากแหล่งน้ำจากเขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแม่กลอง และการเจาะบ่อบาดาลเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร ได้มีการบริหารจัดการตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งได้พิจารณาการส่งเสริมอาชีพเสริม เพื่อชดเชยการเสียรายได้ของเกษตรกร และขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่ไปจนถึงเริ่มฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563
ในการนี้ คณะองคมนตรี ได้น้อมนำพระราชกระแสห่วงใยประชาชนในการบริหารจัดการภัยแล้งเนื่องจากส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง พร้อมทั้งได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ให้พิจารณาพยากรณ์สถานการณ์ไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2563 เผื่อในกรณีฝนทิ้งช่วงเพื่อลดความเสี่ยงได้มากที่สุด 2) ให้ความสำคัญในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางหรือบริเวณลุ่มแม่น้ำชีซึ่ง ประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี พร้อมกับส่งเสริมให้มีบรรจุภัณฑ์กักเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนสามารถมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอได้ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี 3) ให้อนุรักษ์พื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน 4) ให้ความสำคัญสนับสนุน น้ำ อุปโภคบริโภคกับโรงพยาบาล และงานสาธารณสุข
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า พร้อมนำแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในด้านภัยเเล้งให้แก่พี่น้องประชาชนให้เป็นไปอย่างระบบอย่างยั่งยืนต่อไป